ตุ๊กตาชาววัง
ชื่อของตุ๊กตาชนิดนี้
บ่งว่าเป็นตุ๊กตาที่ทำกันในวัง
เป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติและกระแสหนึ่งเล่าว่า เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.ย้อย ดิศรางกูร
ได้ปั้นตุ๊กตาชาววังถวายพระราชธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินเพ็ญภาค
เมื่อเจ้านายองค์น้อยทอดพระเนตรตุ๊กตาก็ทรงโปรด
เจ้าจอมมารดาย้อยจึงปั้นขายที่ตำหนักของท่านเอง
ศิลปินผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังคนสุดท้ายคือ
นางแฉ่ง สาครวาสี สกุลเดิม สุวรรณโน มีพี่สาวคนหนึ่งเป็นข้าหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรพินเพ็ญภาค
นางแฉ่ง สาครวาสี บ้านเดิมอยู่ที่ตึกดิน ถนนดินสอ
มารดามีอาชีพปั้นตุ๊กตาแก้บนส่งจำหน่าย
โดยใช้ดินเหนียวในคลองตึกดินอันเป็นคลองแยกมาจากคลองหลอด
พี่สาวนางแฉ่งหัดปั้นตุ๊กตาอยู่กับเจ้าจอมมารดาย้อยประมาณ
๑ ปี ก็ลาออกจากวังกลับมาอยู่บ้าน มาสอนน้องสาวอีก ๒ คน ให้ปั้นตุ๊กตาชาววัง
การจำหน่ายตุ๊กตาชาววังที่งานภูเขาทอง ทำให้ผู้คนรู้จักตุ๊กตาชาววังอย่างกว้างขวาง
จนปั้นจำหน่ายไม่ค่อยจะทัน
ตุ๊กตาชาววังมี ๓ ขนาด คือ
ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่นิยมกันมากคือ ขนาดเล็กซึ่งสูงประมาณ ๒
เซนติเมตร ขนาดใหญ่จะสูงประมาณ ๔ เซนติเมตร ปั้นเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น
และเด็กกำลังนั่งและคลาน ท่านั่งเอน นอนคว่ำ ตะแคง คุกเข่า ประมาณอย่างละ ๘ ท่า
ส่วนเด็กเล็กนั้น มีที่ไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปีย
ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงนั้นมีลักษณะพิเศษคือ แต่งกายอย่างชาวเหนือ ที่เป็นเช่นนี้
อาจจะเป็นเพราะว่าพระวรชายาเจ้าดารารัศมี ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
นอกจากตุ๊กตาเดี่ยวแล้ว
ยังมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี มีทั้งรามเกียรติ์ ละครนอกและละครใน
การปั้นตุ๊กตาจะปั้นขาก่อน แล้วจึงขึ้นตัว ส่วนตัวนั้นมีพิมพ์กดเอาไว้
เสร็จแล้วนำดินไปผึ่งให้แห้ง ต้องระวังไม่ให้ถูกแดดจัด เพราะถ้าถูกแดดจัดดินจะร้าว
เสร็จแล้วจึงนำไปเผาในเตาถ่านที่ใช้หุงต้มอาหารในครัว เชื้อเพลิงคือ แกลบ
เผาแล้วสุมไว้ตลอดคืน เพื่อให้ตุ๊กตาเย็นสนิท ต่อไปจึงนำตุ๊กตานั้นมาลงสีผิว
โดยใช้ฝุ่นผัดหน้าที่เรียกว่า ฝุ่นจีน มาละลายน้ำจนข้น แล้วจึงแต่งหน้า ทาปาก
เขียนเสี้อผ้า ใช้สีตามความนิยมของชาววัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้าของผู้ใหญ่
ผู้หญิงจะต้องนุ่งห่มสีตัดกันตามวัน
วันอาทิตย์
นุ่งแดงห่มเขียวหรือจะกลับกันก็ได้ วันจันทร์
นุ่งม่วงหรือน้ำเงินห่มเหลือง วันอังคาร
นุ่งชมพูห่มน้ำเงินหรือกลับกัน วันพุธ
นุ่งน้ำเงินห่มสไบเขียว วันพฤหัสบดี
นุ่งน้ำเงินห่มแสดหรือกลับกัน
วันศุกร์
นุ่งน้ำเงินห่มชมพูหรือบานเย็นคล้ายวันอังคาร วันเสาร์ ห่มสีม่วงนุ่งสีเหล็กหรือเทาแก่
ตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี
รูปร่างสะโอดสะอง คอระหง ทรงผมตัดหรือเกล้ามวย ท่าทางฝ่ายหญิงอ่อนช้อย
ฝ่ายชายสง่าและขึงขัง ส่วนเด็กนั้นรื่นเริงน่าเอ็นดูเหมือนธรรมชาติมาก ท่าทางต่างๆ
กันตามเพศและอายุ มักเป็นอิริยาบถประจำวันของคนนั่งพื้น ไม่ใช้เก้าอี้
ผิวเนียนเพราะใช้ฝุ่นดี มีนิ้วมือนิ้วเท้าทุกตัว หลังจากพี่สาวและน้องสาวถึงแก่กรรม
นางแฉ่งจึงเป็นผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังแต่เพียงผู้เดียวและเป็นคนสุดท้าย
นางแฉ่งถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมอายุได้ ๘๗ ปี
ท่านเลิกทำตุ๊กตาชาววังหลายปีก่อนถึงแก่กรรม
แต่ได้มอบวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ท่าน เพื่อนำไปเผยแพร่ที่โครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ณ ตำบลบางเสด็จ หมู่บ้านวัดท่าสุทธาวาส อำเภอป่าโมก
จังหวัดอ่างทอง
การทำตุ๊กตาชาววังของชาวบ้านวัดท่าสุทธาวาสนี้
ยังผลให้ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้นโดยทั่วกัน แต่การประดิษฐ์ตุ๊กตาเป็นจำนวนมากเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด
ทำให้มีความประณีตไม่เท่าผลงานของนางแฉ่ง สาครวาสี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น